
ในประเทศไทยที่มีสภาพอากาศร้อนชื้นตลอดทั้งปี โดยเฉพาะช่วงหน้าฝนที่ความชื้นในอากาศสูง ถือเป็นช่วงเวลาทองของเหล่า “เห็บ” และ “หมัด” ซึ่งสามารถเติบโตและแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้พวกมันกลายเป็นปัญหาใหญ่สำหรับทั้งน้องหมา และเจ้าของสัตว์เลี้ยงทุกคน

เห็บและหมัดเป็นปรสิตภายนอกที่คอยกัดและดูดเลือดสัตว์เลี้ยงเพื่อดำรงชีวิต ซึ่งแม้จะมีขนาดเล็ก แต่ผลกระทบที่ตามมาอาจร้ายแรงกว่าที่คิด โดยเมื่อสัตว์เลี้ยงถูกกัด นอกจากจะมีอาการคันหรือระคายเคืองแล้ว ยังเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ
•โรคโลหิตจาง (Anemia): เกิดจากการเสียเลือดสะสม อาจสังเกตได้จากอาการเหงือกซีดในสุนัข•
•ผิวหนังอักเสบ (Dermatitis): บริเวณที่ถูกกัดจะมีการอักเสบ คัน แดง หรือมีตุ่มขึ้น
• ภาวะแพ้น้ำลายหมัด (Flea Bite Allergy): สัตว์เลี้ยงบางตัวอาจแพ้น้ำลายของหมัด ทำให้มีอาการคันมากผิดปกติ
• โรคพยาธิในเลือด (Blood Parasite): เป็นโรคที่ติดต่อผ่านเห็บ เช่น พยาธิเม็ดเลือด ที่อาจทำให้น้องหมาอ่อนแรง เบื่ออาหาร หรือเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษา
วงจรชีวิตของหมัด

การทำความเข้าใจวงจรชีวิตของปรสิตชนิดนี้เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการรักษาและหยุดการแพร่ระบาด โดยวงจรชีวิตของหมัดจะแบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ไข่ ตัวอ่อน ดักแด้ และตัวเต็มวัย
- ไข่: หมัดตัวเต็มวัยจะวางไข่บนตัวสัตว์ที่เป็นโฮสต์ ซึ่งบางส่วนอาจแพร่กระจายไปสู่สภาพแวดล้อมโดยรอบด้วย ทั้งนี้ไข่หมัดจะฟักเป็นตัวอ่อนภายในเวลาไม่กี่วัน ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิและความชื้น
- ตัวอ่อน: ตัวอ่อนของหมัดจะกินเศษซากอินทรีย์และมูลของหมัดตัวเต็มวัย หลังจาก 5 – 20 วัน พวกมันจะสร้างรังไหมและเข้าสู่ระยะดักแด้
- ดักแด้: หมัดสามารถอยู่ในระยะนี้ได้ตั้งแต่สองสามวันไปจนถึงหลายเดือนก่อนกลายเป็นหมัดตัวเต็มวัย ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมภายในรังไหม
- ตัวเต็มวัย: หมัดตัวเต็มวัยจะโผล่ออกมาจากรังเมื่อพบโฮสต์ โดยอาจสัมผัสถึงแรงสั่นสะเทือนหรือความอบอุ่น จากนั้นพวกมันจะกระโดดเข้าหาโฮสต์ เริ่มหาอาหารและสืบพันธุ์ต่อไป
การป้องกันเห็บหมัดอย่างมีประสิทธิภาพ

1. การตรวจหาและกำจัดตั้งแต่เนิ่น ๆ
• หมั่นตรวจขนบริเวณหัว หู คอ และรักแร้
• แปรงขนเป็นประจำเพื่อสังเกตความผิดปกติ
• ซักเบาะนอน ดูดฝุ่น และทำความสะอาดสิ่งแวดล้อมรอบตัวสัตว์เลี้ยง
2. การควบคุมสิ่งแวดล้อม
• หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีเห็บหมัดชุกชุม
• หากเลี้ยงสัตว์หลายตัว ต้องดูแลและรักษาพร้อมกัน
• หากจำเป็น ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในการกำจัดเห็บหมัดจากบริเวณบ้านและสวน
3. การป้องกันต่อเนื่อง
• ใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันเห็บหมัดอย่างสม่ำเสมอทุกเดือน
• เลือกวิธีที่เหมาะสมตามสุขภาพและไลฟ์สไตล์ของสัตว์เลี้ยง
• หมั่นตรวจสุขภาพประจำปี และปรึกษาสัตวแพทย์หากพบสิ่งผิดปกติ
ผลิตภัณฑ์สำหรับป้องกันและกำจัดเห็บหมัด

ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์มากมายให้เลือกใช้ตามความเหมาะสมกับสัตว์เลี้ยงแต่ละตัว เช่น
• ยาหยดหลัง (Spot-on): ใช้งานง่าย เหมาะสำหรับป้องกันระยะยาวหรือกรณีที่พบเห็บหมัดในระดับเล็กน้อย
• ยากินแบบรายเดือน / ราย 3 เดือน: เหมาะสำหรับเจ้าของที่ต้องการความสะดวกและประสิทธิภาพต่อเนื่อง
• สเปรย์พ่น: ออกฤทธิ์เร็ว เหมาะกับกรณีที่สัตว์เลี้ยงมีเห็บหมัดจำนวนมาก
• แชมพูหรือยาผสมน้ำอาบ: ช่วยลดจำนวนปรสิตได้ในระยะสั้น แต่ต้องใช้อย่างระมัดระวัง
• ปลอกคอป้องกันเห็บหมัด: ใช้ง่าย มีฤทธิ์ยาวนาน แต่ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองความปลอดภัย
ขอบคุณแหล่งมาจาก :
https://www.pedigree.co.th/caring/grooming-and-parasites/fleas
0 Comments